เรือนไทยภาคเหนือ เป็นหนึ่งใน เรือนไทย 4 ภาคของไทย ส่วนมากจะพบในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน และตากบางส่วน

เรือนล้านนา

เกิดเรือนประเภทต่าง ๆ ขึ้นตามสภาพการใช้งาน

  • เรือนชนบท หรือเรือนเครื่องผูก

เป็นเรือนขนาดเล็ก เรือนประเภทนี้กันทั่วไปเนื่องจากก่อสร้างง่ายราคาถูก ตามชนบทและหมู่บ้านต่าง ๆ เรือนชนิดนี้โครงสร้างส่วนหลังคา ตงพื้นใช้ไม้ไผ่ ส่วนคานและเสานิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง ฝาเป็นฝาไม้ไผ่สาน หลังคามุงแฝกหรือใบตองตึง นิยมใช้ตอกและหวายเป็นตัวยึดส่วนต่าง ๆ ของเรือนเข้าด้วยกันด้วยวิธีผูกมัด จึงเรียกกันว่า “เรือนเครื่องผูก” สร้างขึ้นกลางทุ่งนา เพื่อเฝ้าทุ่ง หรือเพื่อประโยชน์การใช้งานตามฤดูกาล มีลักษณะชั่วคราวอยู่ได้ 2-4 ปี เมื่อถึงฤดูฝนในปีหนึ่งๆต้องมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ มีการออกแบบโดยใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีสัดส่วนที่ลงตัว ค่อนข้างกระชับ

  • เรือนไม้ หรือเรือนเครื่องสับ

เรือนไม้ เป็นเรือนของผู้มีอันจะกิน ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น สัก เต็ง รัง ตะเคียน ไม้แดง ฯลฯ การปลูกเรือนประเภทนี้ไม่ต้องใช้ตะปูตอก ยึดให้ไม้ติดกันหรือประกอบกัน โดยการใช้มีด สิ่ว หรือขวานถากไม้ให้เป็นรอยสับแล้วประกอบเข้าด้วยกัน เรียกว่า การประกอบเข้าลิ้นสลักเดือย หลังคามุงกระเบื้อง (ดินขอ) หรือแป้นเกล็ด

  • เรือนกาแล
   เรือนกาแล

กาแล เอกลักษณ์ของเรือนไทยภาคเหนือ

เรือนกาแล เป็นเรือนพักอาศัยของผู้มีอันจะกินและผู้นำชุมชน หรือเป็นเรือนของบุคคลชั้นสูงในสังคม เรือนประเภทนี้มีลักษณะพิเศษคือมียอดจั่วประดับกาแลไม้สลักอย่างงดงาม นิยมมุงกระเบื้องไม้เรียก “แป้นเกล็ด” แต่ปัจจุบันไม้เป็นวัสดุหายากมีราคาแพงจึงเปลี่ยนมาใช้ “ดินขอ” มุงหลังคาแทน ใช้วัสดุอย่างดี การช่างฝีมือสูงประณีต แต่มีแบบค่อนข้างตายตัว ส่วนใหญ่เป็นเรือนแฝด มีขนาดตั้งแต่ 1 ห้องนอนขึ้นไป เรือนกาแลจะมีแผนผัง 2 แบบใหญ่ๆ คือ แบบเอาบันไดขึ้นตรงติดชานนอกโดดๆ กับแบบเอาบันไดอิงชิดแนบฝาใต้ชายคาคลุม แต่ทั้งสองแบบจะใช้ร้านน้ำตั้งเป็นหน่วยโดดๆ มีโครงสร้างของตนเองไม่นิยมตีฝ้าเพดาน หรือบางกลุ่มประกอบด้วยเรือนหลายหลังเป็นกลุ่มใหญ่

ความเป็นมาของกาแลนี้ มีข้อสันนิษฐานดังนี้

  • คำว่า “กาแล” อาจจะเพี้ยนมาจากคำ “กะแลง” ซึ่งมีความหมายว่า ไขว้กันอยู่
  • รูปลักษณะอาจพัฒนามาจาก แต่เดิมเป็นเรือนไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยใบตองตึง(ใบพลวง) ซึ่งต้องมีไม้ปิดหัวท้ายตรงสันหลังคาตอนหน้าจั่ว เมื่อพัฒนาเป็นเรือนไม้จริงมุงด้วยกระเบื้องดินขอ การใช้ไม้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมไขว้กัน แบบธรรมดาคงไม่เกิดความงาม จึงคิดประดิษฐ์แกะสลักปลายไม้ ให้เกิดความอ่อนโค้งงดงามด้วย
  • อาจจะรับอิทธิพลมาจากชาวพื้นเมืองเดิม คือ พวกลัวะ (ละว้า) ซึ่งเรือนแบบดั้งเดิมของพวกลัวะ จะมีการใช้กาแลนี้ประดับ โดยแต่ละแห่งจะแกะสลักลวดลายเฉพาะอย่างไป เป็นเครื่องหมายบอกถึงเชื้อตระกูล ชาวล้านนา (โดยเฉพาะเชียงใหม่) อาจจะรับรูปแบบมาแล้วพัฒนาเป็นรูปแบบของตนเองในภายหลังอีกที
  • อาจจะทำไว้ให้มีความหมายเพื่อเป็นสิริมงคล หรือทำไว้เพื่อป้องกันไม่ให้แร้ง กามาเกาะหลังคา (ซึ่งถือว่าเป็นเสนียดอัปมงคล) นอกจากนี้ยังคงเป็นเครื่องแสดงบอกฐานะของเจ้าของเรือนด้วย

ใส่ความเห็น