บ้านทรงไทย” เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นไทย เปรียบได้กับงานประติมากรรมชิ้นหนึ่งที่ซ่อนหลักการและเหตุผลอันแสดงให้เห็นถึงศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา รวมถึงวิถีชีวิตของคนไทย

บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 1

รัตนโกสินทร์ที่สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 รับสืบทอดวัฒนธรรมการสร้างเรือนมาจาก อาณาจักรศรีอยุธยาไม่ผิดเพี้ยน บ้านทรงไทยภาคกลางในยุคนั้น มักเป็นเรือน 3 ห้อง ยกใต้ถุนสูงพอเดินลอดได้ มีบันไดทอดลงสู่ท่าน้ำเพื่อสะดวกในการใช้น้ำทั้งดื่ม อาบและใช้สอยภายในบ้าน

บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 3

 มาถึงสมัยรัชกาลที่ 2 และ รัชกาลที่ 3 เรือนไทยก็ยังไม่ต่างจากสมัยรัชกาลที่ 1 เท่าไร ตัวอย่างแรกคือตำหนักแดง ของสมเด็จพระสุริเยนทรามาตย์ พระมเหสีในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 4

อิทธิพลตะวันตกในรัชกาลที่ 4 ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยอย่างมาก บ้านทรงไทยแบบใหม่เปลี่ยนรูปจากเดิมไปเป็นแบบฝรั่ง เริ่มมีบ้านก่ออิฐถือปูนชั้นล่างแต่ชั้นบนเป็นไม้ มีระเบียงโปร่งรอบชั้นบนและหลังคาปั้นหยา

 
บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 5
  ในรัชกาลที่ 5 เรือนหลังคาปั้นหยาเริ่มมีกันหนาตาแทนบ้านทรงไทยโบราณ อย่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์ บ้านไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ชั้นเดียวหรือสองชั้น นิยมสร้างประยุกต์แบบตะวันตกเข้ากับไทย คือสร้างด้วยไม้ ยกพื้นกันน้ำท่วมแต่ใต้ถุนเตี้ยกว่าบ้านไทยเดิม
บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 6
    รัชกาลที่ 6 เป็นยุคบ้านเมืองสงบราบรื่น เศรษฐกิจดี ชาวเมืองนิยมความประณีตงดงาม ประกวดประขันความหรูหราของเรือนแบบตะวันตก ได้รับอิทธิพลจากบ้านวิกตอเรียนของอังกฤษ โดยเฉพาะการตกแต่งด้วยลายฉลุที่เรียกว่าขนมปังขิง(gingerbread) และเล่นรูปทรงตัวห้องมุขหกหรือแปดเหลี่ยม
บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 7
  พอมาถึงรัชกาลที่ 7 ที่เผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง บ้านทรงไทยเริ่มลดความหรูหราเป็นเรียบง่าย ตัดลายฉลุฟุ่มเฟือยออกไป หลังคานิยมจั่วตัด
บ้านทรงไทยสมัย รัชกาลที่ 8
    ในรัชกาลที่ 8 รูปทรงบ้านทรงไทยเก๋ไก๋ทันสมัยแบบตะวันตกสมัยศตวรรษที่ 20 เป็นบ้านสองชั้น แม้ว่าใช้ไม้ซึ่งเป็นวัสดุหาง่ายของไทย แต่หลังคาก็เล่นแบบซ้อนกันหลายชั้น มีหน้าต่างบานเกล็ดและกระจกสีเหนือหน้าต่างแบบฝรั่ง
ที่มา :: http://www.panyathai.or.th

ใส่ความเห็น