(ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ 6 กันยายน 2548)

Imageมีฝรั่งคนหนึ่งที่ฉันอยากจะแนะนำให้รู้จัก…เขาชื่อว่า เจมส์ แฮริสัน วิลสัน ทอมป์สัน อาจจะไม่คุ้นหูกันสักเท่าไร แต่ถ้าบอกว่า เจ้าของชื่อนั้นเป็นคนเดียวกับ “จิม ทอมป์สัน” หลายคนคงร้องอ๋อ… ก็คนที่ได้รับฉายาว่าเป็น “ราชาไหมไทย” นั่นยังไงล่ะ

ตัวฉันเองแม้เกิดไม่ทันยุคที่เขายังมีชีวิตอยู่ แต่ก็พอจะรู้บ้างว่า จิม ทอมป์สัน ชาวอเมริกันคนนี้เป็นคนที่ช่วยให้ผ้าไหมไทยของเราโด่งดังไปทั่วโลก หลังจากที่เขาลงหลักปักฐานอยู่ที่เมืองไทย หลังปี พ.ศ.2489 และมีความหลงใหลในความงามของไหมไทย จนได้เข้ามาช่วยชาวบ้านพัฒนาในเรื่องการผลิต การย้อมสี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการตลาด จนทำให้วงการผ้าไหมซึ่งกำลังซบเซา กลับเฟื่องฟูขึ้นมาได้อีกจนถึงปัจจุบัน

Imageจากปากซอยเกษมสันต์ 2 ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ ปากซอยมีป้ายตัวใหญ่ชี้ทางไปพิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทยจิม ทอมป์สัน ฉันเดินเข้าไปในซอยยังไม่ทันจะเหนื่อยก็ถึงสุดซอยพอดี มองเห็นเรือหางยาวแล่นไปมาอยู่ในคลองแสนแสบ ส่วนบ้านเรือนไทย จิม ทอมป์สันตั้งอยู่ทางซ้ายมือ เห็นแล้วรู้ได้ทันที เพราะลักษณะที่ต่างไปจากบ้านเรือนหลังอื่นๆ ในซอย

ความแตกต่างที่ว่าก็คือ บ้านนี้เป็นบ้านเรือนไทยที่พบเห็นได้น้อยมากในเมืองกรุงอย่างนี้ จริงๆ แล้วตามบ้านนอกที่ฉันอยู่ เรือนไทยหลังใหญ่แบบนี้ก็หาได้ยากแล้วเหมือนกัน เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็สร้างบ้านตึกบ้านปูนกันทั้งนั้น คนอยู่ก็ต้องทนร้อนกันไปตามระเบียบ แต่คิดอีกทีก็ดีเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องตัดต้นไม้มาสร้างบ้าน เพราะเรือนไทยหลังหนึ่งก็ใช้ไม้ไม่น้อยอยู่เหมือนกัน

จิม ทอมป์สันเป็นฝรั่งแท้ๆ แต่กลับมีความชื่นชอบชื่นชมเมืองไทยรวมทั้งศิลปะของเอเชีย ทำให้เขาเลือกสร้างบ้านเรือนไทยขึ้นเป็นที่พักอาศัยอยู่ริมคลองแสนแสบ ตรงข้ามกับหมู่บ้านช่างทอผ้าไหมบ้านครัว ซึ่งเป็นชุมชนที่เขามักจะแวะเวียนเข้าไปดูเรื่องการผลิตผ้าไหมอยู่เป็นประจำ ซึ่งไม้ที่นำมาสร้างบ้านนั้นก็นำมาจากเรือนไม้เก่าจากที่ต่างๆ ทั้งจากอยุธยาและในชุมชนบ้านครัวเองด้วย โดยเขาเป็นคนออกแบบเองร่วมกับสถาปนิกชาวไทย

Imageในการเดินชมห้องต่างๆ ภายในบ้านเรือนไทยนั้นจะมีมัคคุเทศก์นำชม ซึ่งแต่ละคนก็เก่งๆ กันทั้งนั้น ฉันได้ยินกลุ่มนี้บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ กลุ่มนั้นเป็นภาษาฝรั่งเศส กลุ่มโน้นเป็นภาษาญี่ปุ่น ส่งภาษากันช้งเช้งๆ ส่วนฉัน ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าต้องบรรยายให้ฟังเป็นภาษาไทยแน่นอน

บางคนอาจจะกำลังคิดอยู่ว่า นอกจากเรือนไทยและต้นไม้ร่มรื่นแล้ว ที่นี่ยังมีอะไรให้ดูอีก ขอตอบว่ามีแน่นอน เพราะจิม ทอมป์สัน นอกจากจะชอบไหมไทย และเรือนไทยแล้ว ก็ยังชอบสะสมของเก่าอีกด้วย ซึ่งแต่ละชิ้นก็เก่าแก่และมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปเก่าอายุหลายร้อยปี ถ้วยชามเบญจรงค์ต่างๆ ภาพเขียนเก่าแก่ และศิลปวัตถุอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะของไทยเท่านั้น แต่มีของหลายๆ เชื้อชาติ ทั้งจีน พม่า ฯลฯ จัดแสดงไว้ในห้องต่างๆ ภายในบ้าน

ไกด์สาวสวยเริ่มพาฉันชมห้องต่างๆ ในบ้าน โดยห้องแรกก็คือห้องครัวเก่าที่ปัจจุบันใช้จัดแสดงพวกเครื่องถ้วยชามทั้งหลาย ซึ่งมีทั้งเครื่องเบญจรงค์และลายน้ำทองจำนวนกว่าครึ่งร้อย มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือกาน้ำของประเทศจีน ที่ไม่ได้เอาไว้ใส่น้ำชา แต่เอาไว้ใส่ไวน์ ลักษณะก็เหมือนกาน้ำเล็กๆ ที่ไม่มีฝาด้านบน เวลาใส่ต้องหงายด้านล่างขึ้น ตัวกามีลวดลายแบบจีนๆ น่ารักดี

Imageออกจากห้องกินข้าว เดินมาตามทางเดินเล็กๆ ที่ประดับด้วยพระพุทธรูป รูปภาพ และรูปปั้นตุ๊กตาแบบไทย จะพบกับห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยศิลปวัตถุต่างๆ เป็นต้นว่า ตุ๊กตาพม่ารูป “นัต” ซึ่งเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ตั้งประดับอยู่ในช่องบานหน้าต่างทั้งสี่ช่อง ฉันชอบบรรยากาศห้องนั่งเล่นที่นี่มาก เพราะด้านหนึ่งมองเห็นวิวต้นไม้เขียวๆ ผ่านหน้าต่าง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นระเบียงเปิดโล่งมองเห็นเรือวิ่งไปมาในคลอง ทำให้บรรยากาศภายในไม่ทึบอึดอัด แถมลมโกรกเย็นสบายอีกต่างหาก

จากห้องนั่งเล่น เดินตรงไปจะเจอกับประตูโรงรับจำนำ อ้าว…อย่าหาว่าฉันโม้นะ ก็ประตูที่ว่านี้เป็นประตูโรงรับจำนำจริงๆ เพราะเจ้าของบ้านซื้อมาจากเยาวราชเพื่อนำมาเป็นประตูกั้นระหว่างทางเดิน แต่ไม่บอกก็ไม่รู้หรอกว่ามาจากโรงรับจำนำ เพราะดูเก๋ไม่หยอกเลย ชมประตูเสร็จเลี้ยวซ้ายไปชมห้องทำงานต่อ ห้องนี้เป็นห้องที่จิม ทอมป์สันใช้เวลาอยู่มากที่สุด สิ่งที่ดูจะโดดเด่นที่สุดคงจะเป็นหน้าต่างบานสูงทรงสอบหน้าโต๊ะทำงานที่เปิดรับลมและชมวิวของสวนต้นไม้ด้านหน้าได้พอดี

Imageนอกจากห้องต่างๆ ในชั้นบนแล้ว ด้านล่างยังมีของที่น่าสนใจอย่างพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในบ้าน คือ 1,300 ปี และเป็นชิ้นที่จิม ทอมป์สันรักมากที่สุดอีกด้วย แต่ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะนอกจากเรือนไทยหลังใหญ่แล้ว ในเรือนหลังเล็กอีก 2-3 หลัง บริเวณริมรั้วก็ยังมีข้าวของต่างๆ อย่างภาพเขียนบนผืนผ้าจัดแสดงไว้ เรียกว่าของดีๆ มีเยอะจนจัดแสดงไม่พอว่างั้นเถอะ

ใส่ความเห็น