เรือนไทยหมู่ของ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ซึ่งเป็นบ้นของอาจารย์ภิญโญ หลังนี้มีการออกแบบเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยโดยเน้นความเป็นเอกลักษณ์ของเรือนไทยโบราณ ซึ่งยังคงลักษณะของเรือนไทยดั้งเดิม อย่างครบถ้วน แต่ได้ปรับพื้นที่ในด้านประโยชน์ใช้สอยให้สอดคล้องต่อการดำรงชีวิตแบบสมัยใหม่ โดยจะมุ่งใช้พื้นที่ใช้สอยทุกตารางนิ้ว ภายในเรือนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุดเนื่องจากราคาที่ดินในกรุงเทพฯมีราคาสูงขึ้น พื้นที่ใต้ถุนจึงไม่ควรปล่อยร้างไว้ดังเช่นเรือนไทย ในสมัยก่อน แต่ปรับเปลี่ยนเป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องจัดเลี้ยง ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องประชุม และโฮมเธียร์เตอร์ในชั้นใต้ดิน 
ประวัติผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี 
เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2480 เป็นชาวจังหวัดสงขลา สถาปนิกและศิลปินอาวุโสดีเด่นเป็นที่ยอมรับในด้านสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะในด้านสถาปัตยกรรมแบบไทย ซึ่งในปัจจุบันนี้มีสถาปนิกในด้านนี้น้อยมาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี เป็นสถาปนิกคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในจำนวนสถาปนิกไม่กี่คนในด้านนี้ที่ได้ศึกษาและสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมและสถาปัตยศิลป์แบบไทยมาเป็นเวลาอันยาวนาน ได้ศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมและวิชาสถาปัตยศิลป์แบบประเพณีและแบบใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้นำเอาวิชาการแบบใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในงานสถาปัตยกรรมและสถาปัตยศิลป์แบบไทยในปัจจุบันได้เป็นผลสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ได้อุทิศตนให้กับงานสถาปัตยกรรมและสถาปัตยศิลป์เพื่อส่วนรวมมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี รับใช้ศาสนาและสังคมด้วยผลงานศิลปกรรม 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี เป็นศิลปินและสถาปนิกเป็นที่ยอมรับในวงการสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี สนใจงานด้านสถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่วัยเด็ก ได้รับการถ่ายทอด สอนการเขียนลวดลายไทยรูปแบบต่างๆ ทั้ยังเป็นสถาปนิกผู้อนุรักษ์ สร้างสรรค์ อุทิศตนให้กับงานสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์มากมาย อาทิ ผลงานวัดไทยในกุสินารามมหาวิหาร ประเทศอินเดีย วัดไทยที่ลุมพินี ประเทศเนปาล ออกแบบสถาบันทักษิณคดีศึกษาที่จังหวัดสงขลา ออกแบบอาคารพุ่มข้าวบิณฑ์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น ริเริ่มปรับปรุงงานสถาปัตยกรรมไทย โดยเน้นการออกแบบมากกว่าการลอกแบบ และเน้นการนำระเบียบแบบแผนของครูช่างโบราณมาประยุกต์ให้ดียิ่งขึ้นในเรื่องลักษณะความงดงามของสัดส่วน เป็นผู้ริเริ่มนำวัสดุใหม่ๆ มาใช้กับงานสถาปัตยกรรมไทย เช่น ลายดุนทองแดง ลวดลายหล่อทองแดง เป็นต้น และยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์วิชาความรู้แก่ชนรุ่นหลังตลอดมา โดยนำวิชาการสถาปัตยกรรมแบบใหม่ประยุกต์ใช้ในงานสถาปัตยกรรมแบบไทยปัจจุบัน 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี เป็นสถาปนิกและศิลปินที่อุทิศตนให้กับส่วนรวมในด้านสถาปัตยกรรมและสถาปัตยศิลป์ เป็นผู้อนุรักษ์สร้างสรรค์ และถ่ายทอดวิชาการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นบุคคลที่มีคุณค่านับเอนกอนันต์ของประเทศ เป็นคนดีมีวิชาที่สมควรได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่งในผลงานและการทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนรุ่นหลัง เป็นศิลปินที่มีคุณธรรมและจริยธรรมทั้งในชีวิตและผลงานผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2537

ใส่ความเห็น